2561/06/07

สูงวัย ใจมีสุข

สูงวัย ใจมีสุข  (Happy old life)



สุขภาพดี สร้างได้ด้วยวินัยตัวเอง



ชื่อไหมว่าคนเราอาจต้องใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของเวลาทั้งชีวิตในช่วงวัยทอง นั่นเพราะอายุเฉลี่ยของการเข้าสู่วัยทองคือช่วง 50-54 ปี ยิ่งปัจจุบันคนเรามีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้นแล้วด้วย อาการที่เปลี่ยนแปลงมากกว่าปกติหรือมีระยะเวลานานกว่า จึงทำให้การผ่านวัยทองไปมักจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

แล้วเราจะอยู่กับวัยทองให้มีความสุขได้อย่างไร เราทุกคนจะรับมือวัยทองได้แน่ๆ แค่มารู้จักร่างกายและศาสตร์แห่งการชะลอวัย


แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าเข้าสู่วัยทอง?
ต้องรู้ก่อนว่าปกติแล้วในผู้หญิง จะเข้าสู้วัยทองเมื่ออายุประมาณ 45 ปี โดยร่างกายจะเริ่มสร้างฮอร์โมนเพศลดลง ส่งผลประจำเดือนก็จะเริ่มมาไม่สม่ำเสมอ มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อแตก นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ความรู้สึกทางเพศลดลง เมื่อประจำเดือนหยุดไปครบ 1 ปี ก็จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอย่างเต็มตัว ส่วนในผู้ชายอาการมักจะค่อยเป็นค่อยไป มักจะเริ่มมีอาการในช่วงอายุย่างเข้า 50 ปี โดยอาการที่พบบ่อยที่สุดคือ ความรู้สึกทางเพศลดลง และอาจรู้สึกว่าพละกำลังและความอดทนในการทำงานและกิจวัตรประจำวันลดลง หงุดหงิดง่าย เบื่อง่าย นอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนล้า ออกกำลังกายได้ไม่ดีเท่าที่เคยเป็น กล้ามเนื้อหายกลายเป็นไขมันมากขึ้น  

ที่ชาววัยทองนอนไม่หลับ...นั่นเป็นเพราะฮอร์โมนลดลง
“อาการเด่นอย่างหนึ่งของวัยทองคือ “อาการนอนไม่หลับ”  พบได้ถึง 40 – 60% มีทั้งแบบที่เริ่มหลับไม่ได้เลย หรือระยะในการหลับสั้นลง หรือ ตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วหลับต่อไม่ได้ ส่งผลให้ตาค้างถึงเช้า รบกวนต่อคุณภาพชีวิตในยามกลางวัน และยังส่งผลเสียต่อสุขภาพด้านอื่นด้วย นั่นเป็นเพราะเมื่ออายุมากขึ้นระดับฮอร์โมนชนิดต่างๆ ได้แก่ ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนต่อมหมวกไต โกรทฮอร์โมน และที่สำคัญคือ ฮอร์โมนเมลาโทนิน จะมีการหลั่งลดลง ส่งผลต่อการควบคุมนาฬิกาชีวิตในสมอง นอกจากนี้ฮอร์โมนเพศที่ลดลงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกายหลายๆ อย่างแล้วไปรบกวนการนอน เช่น มีอาการร้อนวูบวาบและเหงื่อแตกช่วงตอนกลางคืนทำให้นอนไม่สบายตัว อารมณ์ที่แปรปรวนทำให้รู้สึกเศร้าและเครียดง่ายขึ้น การเผาผลาญลดลง ทำให้น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นตามมา ส่งผลให้นอนกรนและมีการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับมากขึ้น อีกทั้งร่างกายจะเริ่มตอบสนองต่ออาหารบางอย่างเปลี่ยนไป เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และในบางรายอาจมีการกำเริบของภาวะปวดกล้ามเนื้อทั่วตัว ยิ่งส่งผลให้ไม่สามารถนอนหลับได้สนิท ซึ่งคุณภาพการนอนที่ไม่ดีนั้นจัดเป็นความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วนได้”

แล้วเราเตรียมตัวเข้าสู่วัยทองอย่างสุขภาพดีได้ยังไง
“เริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเพราะกิจกรรมบางอย่างอาจให้ผลไม่เหมือนเดิม เมื่อร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น การอดนอน การออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลานาน ควรเข้านอนให้เป็นเวลาสม่ำเสมอไม่เกิน 22.00 น. เพื่อให้หลับสนิทในช่วงที่มีการหลั่งฮอร์โมนมาซ่อมแซมร่างกาย และควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30-50 นาที ต่อครั้ง 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ควรผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้อาการวัยทองแย่ลง เช่น ทำงานอดิเรก นั่งสมาธิ หรือ ผ่อนคลายจิตใจด้วยรูปแบบต่างๆ นวดบำบัด ดนตรีบำบัด หรือการใช้น้ำมันหอมระเหยที่สำคัญควรกินอาหารที่มีประโยชน์และหมั่นตรวจเช็คร่างกายสม่ำเสมอ”

ทำไมวัยทองจึงแก้ได้ด้วย...เวชศาสตร์ชะลอวัย
“เพราะวัยทองเกิดจากการที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเวชศาสตร์ชะลอวัยจะเน้นการดูแลโดยใช้การปรับเปลี่ยนด้านพฤติกรรม และโภชนาการ เป็นหลัก โดยอาจมีการตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อแยกปัจจัยต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ และส่งผลให้มีอาการของวัยทองเร็วหรือรุนแรงมากกว่าที่ควร เช่น การเสียสมดุลของฮอร์โมนไทรอยด์, ฮอร์โมนต่อมหมวกไต, ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง หรือการขาดสารอาหารหรือวิตามินบางชนิด เมื่อเห็นสาเหตุของปัญหาแล้ว แพทย์จะแนะนำถึงกิจวัตรประจำวันบางอย่างที่ควรได้รับการแก้ไข สารอาหารที่ควรบริโภคให้มากขึ้นหรือควรได้รับเป็นวิตามินเสริม อาหารบางอย่างที่ควรหลีกเลี่ยง รวมถึงอาจพิจารณาว่าการใช้ฮอร์โมนเสริมมีบทบาทในผู้ป่วยแต่ละรายหรือไม่”


“โดยทั่วไปแล้วอาการของวัยทองจะดีขึ้นได้เองในระยะเวลา 3 – 5 ปี แต่ถ้าอาการเป็นมากหรือยาวนานก็อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต สภาพร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หากลองปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และโภชนาการแล้วไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณาการส่งตรวจเพิ่มเติมและขอคำแนะนำเกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ ในการรักษาอาการที่เป็นอยู่”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น